เชียงใหม่…กระทรวงดีอี – ดีป้า แอ่ว จ.เชียงใหม่ จัดแข่งบิน – ซ่อมโดรนเกษตรพื้นที่ภาคเหนือ หาสุดยอดทีมร่วมชิงแชมป์ Thailand Agriculture Drone Competition 2024
.
วันนี้ (28 ต.ค.67) ที่ ตึกไม้ผล 25ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กระทรวงดีอี) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายพันธมิตร จัดขึ้นเพื่อค้นหาสุดยอดทีมเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวเป็นกิจกรรมของโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่มุ่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE จาก ดีป้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับศักยภาพเกษตรกรไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี นายบุญทวี ดวงนิราช ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ดีป้า พร้อมคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มชุมชน เกษตรกร และประชาชนที่สนใจร่วมงานเป็นจำนวนมาก
.
นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการเกษตรสูง เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เมืองเหนือ อาทิ ลำไย อะโวคาโด ชา และกาแฟ ซึ่งเทคโนโลยีโดรนเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนสามารถฉีดพ่นสารเคมี สำรวจและตรวจสอบพื้นที่จัดการแปลงเกษตร บริหารจัดการผลผลิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นดังนั้นการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับภาคเกษตรกรรมไทย อีกทั้งเป็นเวทีให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือได้ฝึกฝนทักษะและเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ยกระดับภาคเกษตรกรรมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
.
สำหรับการแข่งขัน Thailand AgricultureDrone Competition 2024 รอบคัดเลือกใน 5 ภูมิภาค เป็นเวทีหลักในการส่งเสริมและต่อยอดศักยภาพนักบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และช่างซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ โดยเดินสายจัดการแข่งขันใน 5 ภูมิภาค เริ่มจากภาคใต้ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เพื่อคัดเลือกทีมที่ทำเวลาดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และครบถ้วนตามภารกิจ เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์ระดับประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อีซี่2018 จำกัด (NAcDrone) ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่กลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน เพื่อร่วมเป็นกําลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่อไป
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม
ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง
ศูนย์ข่าว 24northernnews เชียงใหม่…รายงาน