เชียงใหม่-ชลประทานเชียงใหม่ เฝ้าระวัง ติดตามผลกระทบจากพายุฤดูร้อน ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและสาขาเพิ่มสูงแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่แพร้านอาหารริมน้ำถูกน้ำพัดเสียหาย จนท.สำรวจแล้ว ร้านยังเปิดได้แต่ให้อยู่บนฝั่ง
วันที่ 14 เม.ย. 68 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 13 เม.ย. จนถึงช่วงเช้าวันที่ 14 เม.ย. 68 จึงได้สั่งการให้นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 – 8 โครงการชลประทานเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามสถานการณ์น้ำ ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้น พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
จากรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้พื้นที่ต้นน้ำเกิดน้ำไหลหลากในลน้ำสาขาของลุ่มน้ำปิงตอนบน และลุ่มน้ำฝาง ทำให้ระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น น้ำแม่แตง น้ำแม่ริม น้ำแม่งัด น้ำแม่วาง น้ำแม่ขาน น้ำแม่กลาง แม่น้ำฝาง ไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ในขณะเดียวกันด้านประตูระบายน้ำ ฝาย ในแม่น้ำปิง ตั้งแต่ต้นน้ำที่จุดวัด P.20 อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงประตูระบายน้ำแม่สอย อำเภอจอมทอง ก็ได้มีการสำรวจปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงตลอดทั้งลำน้ำ พบว่ามีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีการเอ่อล้น หรือส่งผลกระทบใดๆ กับประตูระบายน้ำและฝาย ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่า ที่บริเวณโม่งทรายบีช ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านอาหารแพริมน้ำ ในแม่น้ำปิง ได้รับผลกระทบจากน้ำปิงที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น และน้ำไหลเชี่ยว ทางเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เข้าตรวจสอบในเรื่องของความเสียหายและความปลอดภัยแล้ว พบว่า แพของร้านอาหาร จำนวน 23 ร้าน แต่ละร้านมีแพประมาณ 20 – 30 แพ ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแพที่อยู่ในแม่น้ำปิงได้ถูกกระแสน้ำพัดพาทำให้เกิดความเสียหาย ร้านละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท แพที่เตรียมไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็พังเสียหาย จึงต้องสั่งต่อแพ และต่อโต๊ะร้านอาหารใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และทางร้านอาหารต่างๆ ก็ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่ให้อยู่เฉพาะบนฝั่งเท่านั้น ไม่สามารถลงไปในแม่น้ำปิงได้ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากกระแสน้ำปิงที่ยังไหลเชี่ยวอยู่
ทั้งนี้ โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้กำชับเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง และบริหารจัดการประตูระบายน้ำ ฝายในลำน้ำ สายหลักตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของอาคารชลประทานต่างๆ มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 24northernnews เชียงใหม่