กรมสุขภาพจิต ส่งทีม รพ.สวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุดินสไลด์ จ.เชียงใหม่ และน้ำท่วม จ.เชียงราย
วันนี้ (11 กันยายน 2567) กรมสุขภาพจิต ขานรับนโยบายท่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เข้าช่วยเหลือดูแลสภาพจิตใจควบคู่กับการบริหารจัดการลดความเสียหายจากผลกระทบในเหตุดินสไลด์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และน้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เนื่องจากมีการสูญเสียชีวิต บ้านที่อยู่อาศัย รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ โดยอธิบดีกรมสุขภาพจิตเร่งจัดทีมบูรณาการเยียวยาจิตใจ ประกอบด้วย ทีม MCATT รพ.สวนปรุง สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดินสไลด์ และน้ำท่วม พบมีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย และผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลในครอบครัว สร้างความเศร้าโศกเสียใจ บางรายอาจมีภาวะช็อก การตอบสนองดังกล่าวโดยปกติจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากถือว่าอยู่ในระยะวิกฤตฉุกเฉินทางสุขภาพจิต ถ้าหากผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตในระยะนี้ไปได้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงในระยะยาวต่อไปได้ กำชับให้ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 บูรณาการร่วมกับทีม MCATT ระดับจังหวัดและอำเภอ ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลจิตใจ โดยใช้หลักการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะเครียดหลังเหตุการณ์รุนแรง หรือ ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD : Post-traumatic Stress Disorder)
นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า ในเย็นวันนี้ ได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจกรมสุขภาพจิต พร้อมลงปฏิบัติงานเยียวยาจิตใจแก่ผู้ประสบภัยโดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต สูญหาย
และผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ทีม โดยมีทีมสหวิชาชีพ ลงบูรณาการการทำงานร่วมกับทีม MCATT ของพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประเมินสุขภาพใจผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิง เทศบาลแม่สาย และวัดพรหมวิหาร ในส่วนพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทีมอยู่ระหว่างการประเมินสถาณการณ์ดินสไลด์เพื่อจัดทีมเข้าพื้นที่ต่อไป
ทั้งนี้ อยากฝากถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ติดตามข่าวสารจากหลากหลายสื่อมากเกินไป ควรติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสมจากสื่อหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อาทิ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง หรือ เพจเฟซบุ๊กของจังหวัด/อำเภอ หรือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ และหากในครอบครัวท่านมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเด็กพิเศษ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งได้ที่ สายด่วน ปภ. (ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง