ม.แม่โจ้ เปิดโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทย พร้อมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมให้บัณฑิตด้านพลังงานทดแทน
วันนี้ (18 ธ.ค. 67) ดร.วัชรินทร์ บุญฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และบรรยายพิเศษ “แผนพลังงานแห่งชาติ 2024 กับทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนในประเทศไทย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวต้อนรับ พร้อมทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนบริษัททางด้านพลังงาน ผู้บริหารหัวหน้าส่วนงานจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในสถานศึกษาและส่วนราชการ ซึ่งสามารถผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งงานทางการเกษตร การใช้งานตกแต่งสถานที่ และการใช้ประโยชย์ในชีวิตประจำวัน เช่น การนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาโรงเรือนผลิตพืช ช่วยประหยัดพื้นที่ ลดต้นทุนให้เกษตรกร และที่สำคัญคือเป็นสถานฝึกประสบการณ์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ปฏิบัติจริง พัฒนางานวิจัยของนักศึกษาในทุกระดับเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและความก้าวหน้าของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้แก่นักศึกษาด้วยการรับผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามวัตถุประสงค์ และการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมด้านการติดตั้งและผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อการสร้างราย พร้อมนำมาต่อยอดพัฒนาและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ของโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้มีงบประมาณหมุนเวียนในการซ่อมบำรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในลักษณะพี่งพาตนเองได้
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด , บริษัทลานนาโซลาร์ เอ็นเนอร์จี จำกัด และ บริษัท เอสล่าร์ไทย วิศวกรรม จำกัด เพื่อร่วมสนับสนุนด้านวิชาการเป็นแหล่งฝึกสหกิจศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพิ่มโอกาสในการได้งานทำของนักศึกษา รวมถึงการพัฒนาการวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ขยายผลจากงานวิจัยสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างโอกาสในการขยายผลของเทคโนโลยี วิจัยจากหิ้งสู่ห้าง นอกจากนั้น บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด ได้มอบเครื่อง Solar simulator เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน และการวิจัย ให้แก่วิทยาลัยพลังงานทดแทน อีกด้วย
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม
ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 24northernnews เชียงใหม่…รายงาน