เชียงใหม่-ขอเชิญชวนร่วมงาน “โครงการหลวง 2567” “Hats on Hills: ห่มเขาด้วยเงาไม้ ใต้ร่มพระบารมี 55 ปี โครงการหลวง” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
มูลนิธิโครงการหลวงจัดงาน “โครงการหลวง 2567” พร้อมเชิญชวนประชาชนชาวเชียงใหม่ ร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด การประชุมวิชาการนานาชาติ และงาน “โครงการหลวง 2567” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567 โดยการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “จากการพัฒนาทางเลือกมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน: เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาทางเลือก เพื่อรับมือการท้าทายทุกประเด็นของโลก” และ งานโครงการหลวง 2567 “Hats on Hills: ห่มเขาด้วยเงาไม้ ใต้ร่มพระบารมี 55 ปี โครงการหลวง” โดยทั้งสองกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง เผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีพระบรมราโชบาย สืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการก่อตั้งโครงการหลวงจนเกิดผลสำเร็จ แก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด การประชุมวิชาการนานาชาตินี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 4 ธันวาคม 2567 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำผลสำเร็จจากการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงด้วยรูปแบบการพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวง เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ และเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง รวมทั้งใช้โอกาสในการประสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่สูงในประเทศไทย และนานาประเทศ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนในการสร้างพลังของการพัฒนาทางเลือกเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและนานาประเทศสามารถเดินทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศ ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว 29 ประเทศ โดย นาง กาดา ฟาติ วาลี ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (Ms. Ghada Fathi Waly, UNODC Executive Director) ได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมและปาฐกถา มุมมองของ UNODC กับรูปแบบการพัฒนาทางเลือกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจาก FAO ประเทศไทย รวมทั้ง เกษตรกรจากพื้นที่พัฒนาของโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ประเทศเมียนมา สาธารณรัฐประชาชนลาว โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาในประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมอีกกว่า 300 คน
ผู้ร่วมประชุมทั้งหมดจะได้เดินทางไปเรียนรู้ในพื้นที่ตัวอย่างการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวงและการขยายผลผลสำเร็จการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยกับปีที่ 8 ของการพัฒนา สามารถกำจัดฝิ่นบนพื้นที่ฝิ่นผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนในชุมชนได้รับการพัฒนาในทุกมิติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ต้นแบบการพลิกฟื้นจากเขาหัวโล้น สู่พื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และยังเป็นสถานีวิจัยพืชเมืองหนาวที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในการขยายผลสำเร็จการดำเนินงานแบบโครงการหลวง คือ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างของชุมชนไม้มีค่า ดูแลรักษา สร้างรายได้ คนในชุมชนป่าแป๋มีการประกอบอาชีพที่สมดุลและเกื้อหนุนการอยู่ร่วมกันป่า และสามารถต่อยอดป่าเมี่ยงและป่าชุมชนไปสู่การสร้างรายได้ และการสร้างคาร์บอนเครดิต การันตีโดยรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2564 ประเภทสัมฤทธิ์ผล ประชาชนมีส่วนร่วม
ในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกันนี้ มูลนิธิโครงการหลวงยังมีจัดงานโครงการหลวง 2567 โดยปีนี้ได้ขยายเวลาขึ้นเป็น 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 10 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด “Hats on Hills ห่มเขาด้วยเงาไม้ ใต้ร่มพระบารมี 55 ปี โครงการหลวง” ผลการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยพระบารมีปกเกล้า ชุมชนที่สูงจึงมีชีวิตใหม่ที่มีสุข ร่มเย็น ขุนเขาฟื้นความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประเทศ ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของทั้งสองรัชกาล สร้างประโยชน์สุขทั้งแก่ชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก กิจกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงานมีทั้งนิทรรศการแสดงผลสัมฤทธิ์การพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย : สู่ความท้าทายโลก พร้อมการจัดตกแต่ง ประดับประดาพื้นที่อย่างสวยงามด้วยพืชผลที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา สอดแทรกด้วยสาระความรู้ ความสนุกเพลิดเพลิน ผ่านกิจกรรมฐานเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมศิลปะการวาดภาพด้วยสีน้ำ โดย ศิลปินวาดภาพจิตอาสา ผู้เขาชมงานจะได้สนุก เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมประดิษฐ์ประดอยของที่ระลึกด้วยฝีมือของตนเอง
สำหรับผลิตผล ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่เกิดจากคุณูปการของโครงการหลวงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้ส่งตรงจากดอยมามากกว่า 800 รายการ และปีนี้โครงการหลวงยังจัดมุมทดสอบผลิตผลใหม่ที่อยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้ชิมและให้ความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์ และการส่งเสริมแก่เกษตรกร ผลิตผลใหม่เหล่านี้ ได้แก่ แตงกวามินิบอล พริกหวานรับประทานสด รวมทั้งผัก และผลไม้พระราชทานชนิดต่าง ๆ
ร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์โครงการหลวงจากชาวดอย อิ่มอร่อยไปกับอาหารหลากหลายเมนู ดูนิทรรศการ ชมฐานเรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา ในงานโครงการหลวง 2567 วันที่ 1-10 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
ศูนย์ข่าว 24northernnews เชียงใหม่…รายงาน