เชียงใหม่-ชลประทาน หารือกับศูนย์อุทกฯ และผู้เชี่ยวชาญ ปรับแผนการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจาก 6 – 7 ชม. เป็น 15 ชม. ด้วยการอัพเดตข้อมูลระดับน้ำและความเร็วน้ำ พร้อมเตรียมนำสติ๊กเกอร์มาร์กระดับน้ำแจกให้กับประชาชนติดไว้ในจุดที่เคยเกิดน้ำท่วม สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้กับประชาชนในพื้นที่
วันที่ 25 มีนาคม 2568 เวลา 14.00 น. นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทางการปรับปรุงการคาดการณ์และแจ้งเตือนเหตุการณ์อุทกภัย ลุ่มน้ำปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน โดยมี นายอานนท์ อินทรประสาท ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคเหนือตอนบน นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1, นายจิรชัย พัฒนพงศา ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา , นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้อง SWOC สำนักงานชลประทานที่ 1 ถนนทุ่งโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ในวันนี้ทางสำนักงานชลประทานที่1 ได้ร่วมหารือกับศูนย์อุทกวิทยาภาคเหนือ และผู้เชี่ยวชาญจากทางกรมชลประทาน ด้านอุทกวิทยา มาแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในเรื่องของการคาดหมายปริมาณน้ำหลาก และการเฝ้าระวัง และการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ในเรื่องการแจ้งเตือนภัยควรเพิ่มเวลาในการแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบ เพื่อจะได้ขนย้ายทรัพย์สินที่มีค่า โดยเฉพาะพื้นที่ หรือบ้านที่เป็นชั้นเดียว จะได้ย้ายไปในที่ปลอดภัย จากเดิมที่เฝ้าระวังที่สถานี P.67 ที่บ้านแม่แต อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะมีเวลาในการเตือนภัย 6 – 7 ชั่วโมง ก็มีการปรับขบวนการและรวบรวมข้อมูลจากสถานีตรวจวัดในพื้นที่ต้นน้ำ จะสามารถเตือนภัยได้มากกว่าเดิมจาก 6 – 7 ชั่วโมง เป็น 15 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ก็จะมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยในปี 67 ที่ผ่านมา โดยทางอุทกวิทยาภาคเหนือก็ได้จัดทำสติ๊กเกอร์ที่แจ้ง หรือมาร์กระดับน้ำที่เคยเกิดขึ้นในปี 67 เพื่อจะให้ประชาชนได้เชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นในภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ หากระดับน้ำ P.1 ที่สถานนวรัฐ ยังไม่ถึงระดับ 5.30 เมตร ก็จะไม่ถึงระดับที่เกิดขึ้นเหมือนในปี 67 ที่ผ่านมา เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ซึ่งทางศูนย์อุทกวิทยาภาคเหนือและสำนักงานชลประทานที่ 1 ก็จะได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจ และความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่
สำหรับ P.67 ที่จะทำให้มีการแจ้งเตือนได้เร็วขึ้นจากเดิม 6 – 7 ชั่วโมง เป็น 15 ชั่วโมง ก็จะมีการปรับและสำรวจลูกตัดลำน้ำ ร่วมกับการวัดความเร็วน้ำ จะมีการจัดทำข้อมูลความสัมพันธ์ของระดับน้ำและอัตราการไหลให้เป็นปัจจุบันก่อนจะถึงฤดูฝน เพื่อให้เกิดความแม่นยำถูกต้อง เพราะในปีที่ผ่านมาอาจจะมีการเกิดทับถมของตะกอน การกัดเซาะตะกอนของตลิ่ง ทำให้ลูกตัดทางน้ำมีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีการจัดทำข้อมูลความสัมพันธ์นี้ไว้เพื่อเป็นการอัพเดต และนำมาใช้ในการตัดสินใจและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในภาพรวม
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 24northernnews เชียงใหม่