เชียงใหม่-ศิษย์เก่าแม่โจ้ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม รับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 47
วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีเสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2566-2567 (ครั้งที่ 47) โดยมีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต จำนวน 2,100 ราย แยกเป็น ระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท -ป.เอก) จำนวน 103 ราย ระดับปริญญาตรี 1,995 ราย และพระบัณฑิต จำนวน 2 รูป เข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
ในการนี้ ศิษย์เก่าแม่โจ้ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง เข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ประจำปี 2567 จำนวน 6 ราย ดังนี้
1. นายสมบัติ นิ่มเงิน ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่น 48
อดีตรองกรรมการผู้จัตการอาวุโส บริษัท เจริญแพลนเตชั่น จำกัด ประเทศกัมพูชา , บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ้วส์ จำกัด ประเทศไทย
2. นายรณชัย บุญรอด ศิษย์เก่แม่โจ้รุ่น 54
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด(แผนกอาหารสัตว์) บริษัท อาหารสยาม (2513) จำกัด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเลียน บัวจูม ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 55 อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
4. นายอุดมศักดิ์ เฉลิมพนาพันธ์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ 56 เจ้าของร้านเสือการเกษตร
5. นายมะนิต สารุณา ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 58 ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยจรัส เตชะตันมีนสกุล ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 59 รักษาการแทนรองอธอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระโอวาท แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ความตอนหนึ่งว่า
“…การเกษตรนั้น ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย การพัฒนาการเกษตรให้ก้าวหน้า ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการนี้ ต้องอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งให้ความสำคัญกับการวางแผนงานอย่างเป็นขั้นตอน บนพื้นฐานของการพัฒนาคน โดยเน้นองค์ความรู้ด้านการตลาดที่ทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าทางการเกษตร อันจะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกระดับ ร่วมกับการใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม แนวทางดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่เข้าถึงแก่นแท้ของการพัฒนาอันจะช่วยให้การเกษตรของไทยมั่นคงก้าวหน้าขึ้น และยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน จึงขอให้บัณฑิตทั้งหลายนำไปพิจารณาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงจากรากฐาน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแท้จริง”
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม/ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง///ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 24northernnews เชียงใหม่…รายงาน