เชียงใหม่-อำเภอสันป่าตอง Kick off กิจกรรมเดินหน้าเข้าหาไฟ ลดการเผาในพื้นที่เกษตร ใช้วิธีไถเปียกกลบตอซังข้าว แทนการไถแบบแห้ง ลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ตั้งเป้าลดการเผา 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งอำเภอ
.
วันนี้ (15 ม.ค. 68) ที่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านร้องตีมีด แปลงนาของนางสาวอัจฉรา จุมภูก๋า หมู่ที่ 6 ต.ทุ่งสะโตก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off “เดินหน้าเข้าหาไฟ ลดการเผา อำเภอสันป่าตอง” ประจำปี 2568 ซึ่งทางอำเภอสันป่าตอง พร้อมด้วย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ เพื่อลดและไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เกษตรโดยวิธีทางเลือกต่างๆ ภายใต้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อาทิ การไถกลบตอซัง การเปลี่ยนเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ปุ๋ยหมัก และสิ่งของต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ทั่วทั้ง 25 อำเภอ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน
.
โดยในปีนี้ทางอำเภอสันป่าตองได้ยกระดับการบริหารจัดการลดการเผาในพื้นที่เกษตรให้ดียิ่งขึ้นอีก โดยใช้วิธีการไถกลบแบบเปียกแทนการไถกลบแบบแห้ง ด้วยการปล่อยน้ำเข้าในแปลงนาหรือแปลงเกษตรก่อนทำการไถกลบ เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่ฟุ้งกระจายในระหว่างการไถและช่วยให้ไถได้ง่ายขึ้น ทำให้ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังมีการนำน้ำหมักจุลินทรีย์มาช่วยในการย่อยสลายเศษซากพืชที่ถูกไถกลบด้วย นอกจากนี้ ยังได้นำวิธีอื่นๆ มาช่วยในการเปลี่ยนเศษวัสดุทางการเกษตรให้สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้กลับคืนให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักอัดแท่ง การทำกระดาษจากฟางข้าว และการทำฟางอัดก้อน ซึ่งทางอำเภอสันป่าตองได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะไม่ให้มีการเผาในพื้นที่เกษตรเลยทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดกว่า 12,000 ไร่
.
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากการไม่เผา แต่ในการไม่เผาก็ต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ หากเป็นพื้นที่ป่าก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหาวิธีลดความจำเป็นที่จะต้องชิงเผา เช่น การเอาเชื้อเพลิงออกจากป่า หรือการเอาเศษใบไม้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขณะที่ในส่วนของการเกษตร จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านและเกษตรกรไม่ให้มีการเผา หรือหากมีความจำเป็นจะต้องเผาก็ต้องมีการสำรวจและวิเคราะห์ถึงความจำเป็นก่อน แล้วเข้าไปพูดคุยเจรจาหาทางช่วยเหลือเพื่อลดความจำเป็นที่ต้องเผาให้เหลือน้อยที่สุด โดยส่วนราชการจะช่วยสนับสนุนรถไถ น้ำมันเติมรถไถ เพื่อไปช่วยไถกลบให้แทนการเผา หรือสนับสนุนการขนย้ายซากพืชที่เป็นชีวมวลออกจากแปลง เพื่อหยุดการเผา โดยในปีที่ผ่านมาสามารถลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้กว่า 200,000 ไร่ และลดการเผาในภาพรวมทั้งจังหวัดได้กว่า 500,000 ไร่
ส่งศักดิ์ พรมเอี่ยม/ธนรักษ์ ศรีบุญเรือง///ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 24northernnews เชียงใหม่…รายงาน